ดีพร้อม ผลักดันมาตรฐานผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย Thailand Textiles Tag เพิ่มคุณภาพสินค้า พร้อมหนุนซอฟต์พาวเวอร์แฟชั่นไทย ก้าวไกลสู่ระดับโลก
กรุงเทพ 3 กรกฎาคม 2567 – กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM)เร่งผลักดันอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ชูมาตรฐาน Thailand Textiles Tag สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคภายใต้มาตรฐานสินค้าไทย เลือกใช้สินค้าคุณภาพที่ผลิตในไทย พร้อมเร่งพิจารณารับรองมาตรฐานด้วยฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย หรือ Thailand Textiles Tag โดยปี 67 มีผู้ผ่านการรับรองจำนวน 22 กิจการ 34ผลิตภัณฑ์ คาดสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้ผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท เตรียมชงให้เกิดการซื้อขายภายในประเทศเพิ่ม พร้อมหนุนผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทยมุ่งสู่ซอฟต์พาวเวอร์แฟชั่นที่มีคุณภาพระดับสากล
ทั้งนี้ ดีพร้อมได้จัดกิจกรรมพิธีปิดและมอบวุฒิบัตรแก่ผู้ประกอบการที่ผ่านมาตรฐานฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย ปี2567 โดยได้รับเกียรติจากนายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นประธานกล่าวปิดงานพร้อมมอบวุฒิบัตร และนางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวรายงาน พร้อมด้วย ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ สภาอุตสาหกรรมฯ สมาคมอุตสาหกรรมฟอกย้อม พิมพ์ และตกแต่งสำเร็จสิ่งทอไทย สมาคมการค้าอุตสาหกรรมผ้านอนวูเว่นไทย สมาคมอุตสาหกรรมทอผ้าไทย และภาคเอกชนในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ผู้บริหารไอคอนสยาม ตบเท้าเข้าร่วมอย่างคึกคัก ณ ชั้น M เจริญนครฮอลล์ ไอคอนสยาม
นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM)เปิดเผยว่าปัจจุบัน ตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อยกระดับความรู้ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้เกิดมูลค่าและรายได้เพิ่มสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องช่วยส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เกิดการปรับเพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างความแตกต่าง สนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต และเพิ่มคุณสมบัติพิเศษให้กับสินค้า โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ที่ได้รับแรงกดดันสูงจากกลุ่มประเทศตลาดใหม่ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การบริหารงานของนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยในการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในบริบทต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจและพร้อมรับกับอนาคต จึงได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ดำเนินการตามนโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ผ่านกลยุทธ์ การปรับตัวให้ก้าวทันอุตสาหกรรมยุคใหม่ (RESHAPE THE INDUSTRY) โดยการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้ารวมทั้งนำจุดเด่นของไทยประสานกับความคิดสร้างสรรค์สร้างความแตกต่างให้กับสินค้าไทยให้มีความโดดเด่นในตลาดโลก และเพิ่มมาตรฐานของสินค้าในทุก ๆ ด้าน
นายภาสกร กล่าวต่อว่ากรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ได้จัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอเข้าสู่มาตรฐานอุตสาหกรรม (Thailand Textiles Tag) ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน โดยการบูรณาการกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อเร่งยกระดับผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ อาทิ ผู้ผลิต เส้นด้าย ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูป เคหะสิ่งทอ และสินค้าไลฟ์สไตล์ ที่มีสิ่งทอเป็นองค์ประกอบ ด้วยการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน พร้อมการขอรับรองภายใต้ตราสัญลักษณ์คุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย (Thailand Textiles Tag) ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับคุณภาพของเนื้อผ้าความคงทนของสี และความปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง รวมถึงวัตถุดิบที่ใช้และกระบวนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศไทย (Made in Thailand)
ในปีปัจจุบันมีผู้ประกอบการสนใจยื่นขอการรับรองเครื่องหมาย Thailand Textiles Tag และพัฒนาผลิตภัณฑ์จนได้การรับรองตามหลักเกณฑ์ รวมทั้งสิ้น 22กิจการ 34ผลิตภัณฑ์ โดยผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองในปีนี้ มีหลากหลายประเภท อาทิ ผ้าผืนสำหรับนำไปพิมพ์และตัดเย็บเป็นกางเกงช้างและกางเกงประจำจังหวัดต่าง ๆ ผ้าไหม ผ้าฝ้ายทอมือ เสื้อผ้าเด็ก เสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งบุรุษและสตรี รวมทั้ง ชุดเครื่องนอนและเสื้อผ้ากีฬาที่ได้รับการพัฒนาโครงสร้างเนื้อผ้าให้สัมผัสแล้วรู้สึกเย็นสบาย เป็นต้น ซึ่งคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มได้ไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท โดยใน 5 ปีที่ผ่านมานั้น มีผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรองเครื่องหมายรวมทั้งสิ้น 151กิจการ 271ผลิตภัณฑ์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจปีละไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 180 ล้านบาท
“ดีพร้อม เชื่อมั่นว่าการดำเนินกิจกรรมนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มให้มีคุณภาพสูง และได้มาตรฐานสากล โดยเฉพาะมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในตลาดโลก รวมทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดซอฟต์พาวเวอร์แฟชั่นไทยสู่ระดับสากล” นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย